เมนู
หมวดหมู่

กระเป๋าย่านลิเภา สินค้าพื้นเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช

กระเป๋าย่านลิเภา ทางเรา foodpaying จะมาพูดถึงสินค้าเครื่องจักสานย่านลิเภา ภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับแบรนด์เนม เป็นกระเป๋าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคนไทยยุคใหม่จะไม่ค่อยนิยมใช้ แต่ก็ถือได้ว่าสินค้านี้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไรไปดูกัน

กระเป๋าย่านลิเภา เป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษ

ย่านลิเภา หรือกระเป๋าย่านลิเภาเป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษเรา แล้วก็วัตถุดิบก็เกิดขึ้นเองภายในประเทศคือ ทางภาคใต้ที่ฝนตกมากตัวย่านลิเภานั่นก็คือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นเอง รกโดยธรรมชาติ ใต้ต้นยาง ใต้สวนยางปิดดินให้ชุ่มชื้น และที่ภาคใต้ใช้ได้ดีเพราะว่าฝนตกมาก ทำให้เกิดความเหนียว ทำให้เส้นเหนียว และอยู่ได้เป็นร้อยปี อันนี้ที่คนญี่ปุ่นบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของย่านลิเภา ถ้าแม้นว่าทิ้งให้แก่กับต้นแล้ว ใยของเขาจะเหนียวอยู่ได้เป็นร้อยปี โดยที่ไม่มีตัวแมลงมากัดกินเลย เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย

กระเป๋าย่านลิเภา คืออะไร

เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นเครื่องจักสานประเภทหนึ่ง ที่สานด้วยย่านลิเภา ซึ่งเป็นพืชตระกูลเฟิร์น หรือ เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกเถาวัลย์ว่า ย่าน มีคุณสมบัติที่ดี คือ ลำต้นเหนียว ชาวบ้านจึงนำมา จักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ แหล่งผลิตที่สำคัญ ของเครื่องจักสานย่านลิเภาอยู่ที่บ้านหมน ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาค

ความปราณีตที่สืบทอดกันมา

กว่าที่เราจะได้ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาสักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะมีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้ง่ายหัตถกรรมชนิดอื่น กระบวนการผลิตเครื่องจักสานย่านลิเภา เริ่มจาก การนำย่านลิเภามาจักผิวเป็นเส้น ๆ แล้วชักเรียดให้เส้นเรียบ เสมอกัน จากนั้นนำมาสานขัดกับตัวโครงที่ทำจากหวาย และไม้ไผ่ให้เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ

เช่น กระเชอ เชี่ยนหมาก กล่องใส่ยาเส้น พาน ปั้นชา ขันดอกไม้ธูปเทียน กรงนก กระเป๋าถือ เป็นต้น งานจักสานย่านลิเภา นอกจาก จะงดงามด้วยลวดลายของการจักสานแล้ว ยังงดงามด้วย สีผิวธรรมชาติของย่านลิเภา และสีผิวของตอกเส้นยืนที่ทำ จากไม้ไผ่ หรือไม้ลิงโร ทำให้เกิดสีสลับกันงดงาม บางครั้ง ยังเสริมส่วนประกอบด้วยเครื่องถมเงินและถมทอง เพื่อเพิ่ม มูลค่า ความงาม และคุณค่าของเครื่องจักสานย่านลิเภา ให้สูงขึ้น

กระเป๋าย่านลิเภา ลวดลายท้องถิ่นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

ซึ่งเครื่องจักสานย่านลิเภา จัดว่าเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียง ในงานหัตถกรรมชนิดนี้มากที่สุด มีกำเนิดจากการจักสานย่านลิเภา เป็นข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่มีเอกลักษณ์สืบทอดจากบรรพบุรุษหลายร้อยปี จนกระทั่งเป็นที่รู้จักของคนเมืองเหลวง เมื่อเจ้านายจากหัวเมืองใต้ นำขึ้นมาถวายในราชสำนักและเผยแพร่ในหมู่เจ้านาย

มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนในปี พ.ศ.2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริ ให้สอนการสานย่านลิเภาในโครงการศิลปาชีพ มีการพัฒนารูปแบบได้อย่างสวยงามประณีต เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วประเทศ นอกจากนี้ งานจักสานย่านลิเภา แสดงให้เห็นถึงฝีมืออันประณีต ความอุตสาหะของช่างผู้ผลิต ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ ผู้ครอบครอง หรือผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย

กระเป๋าย่านลิเภา มีกี่ประเภท

ซึ่งย่านลิเภาสำหรับใช้ในงานจักสานมี 2 ประเภท คือ ย่านลิเภาดำและย่านลิเภาน้ำตาล โดยจะเลือกใช้เส้นย่านลิเภาที่ด้านนอกมีสีเขียวเข้ม ด้านในมีสีน้ำตาลเข้ม เริ่มต้นด้วยการนำเส้นย่านลิเภาใหญ่ไปลอกหรือปอกเปลือกออก จากนั้นจึงนำมาผึ่งลมให้แห้ง และนำมาแบ่งเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการใช้งาน เสร็จแล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม
และนำกลับมาแบ่งเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กลงตามความต้องการใช้งานอีกครั้ง จากนั้นจึงทำการ ชักเลียด ในขั้นตอนของการชักเลียดนั้น จะนำกระป๋องนมหรือสังกะสีชนิดหนามาเจาะรูให้ได้ขนาดต่างๆ ตามที่ต้องการ ประมาณ 5 รู ให้มีขนาดจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด นำเส้นย่านลิเภามารูดทีละช่องจนได้เส้นย่านลิเภาขนาดที่ต้องการ ซึ่งการเหลาเส้นจักตอกโดยวิธีชักเลียดนี้จะทำให้ตอกมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น ผิวตอกจะเรียบลื่นสวยงาม ส่วนย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ให้เก็บใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นเอาไว้เพื่อกักเก็บความชื้น เมื่อนำออกมาใช้จะทำให้สานได้ง่ายกว่าเส้นลิเภาที่แห้ง
การจักสานย่านลิเภาจะเริ่มด้วยการสานส่วนฐานของผลิตภัณฑ์เป็นลำดับแรกด้วยวิธีการดัดให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ อาจใช้รูปแบบการดัดหวายเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม รูปทรงรี รูปทรงเหลี่ยม ส่วนการเลือกเส้นหวายสำหรับทำโครงจะต้องเลือกตัดเส้นหวายให้ได้ขนาด แล้วจึงนำมาชักเลียดหวายจนได้เป็นขนาดที่พอเหมาะสำหรับการสาน เมื่อชักเลียดหวายเสร็จแล้วจึงนำมาตัดให้ได้ขนาดตามผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นจึงใช้เข็มเจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วใช้ย่านลิเภาสอดตามเข้าไปเพื่อสานประกอบเป็นก้นของผลิตภัณฑ์
การสานลายย่านลิเภามี 2 รูปแบบ คือ การสานแบบโปร่ง หรือแบบขดขึ้นรูป ต้องขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ หรือ ไม้เนื้ออ่อน สานเส้นลิเภาด้วยวิธีการขัดลายคล้ายกับวิธีการสานเสื่อ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือวิธีการสานแบบทึบ ซึ่งจะเริ่มสานจากก้นของภาชนะหรือเครื่องใช้นั้น โดยใช้หวายขดขึ้นรูปในการขึ้นโครงเป็นวงกลมแบบก้นหอย ในการสานจะต้องใช้เบ้าเป็นเครื่องกำหนดรูปทรง เวียนขึ้นไปตามเบ้าที่ใช้เป็นแบบ ตัวเบ้านิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขึ้นรูปทรงที่ความต้องการตามเบ้า
จากนั้นใช้เข็มเจาะนำแล้วสานต่อเส้นลิเภาทีละเส้นด้วยวิธีการถักเส้นลิเภาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากและต้องอาศัยความละเอียดในการถัก ในขั้นตอนนี้อาจมีการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เช่น ลายดอกสี่เหลี่ยม ลายสอง ลายตาสับปะรด ลายลูกแก้ว ลายคชกริช ลายพิมพ์ทอง ลายเม็ดแตง ลายมัดหมี่ ลายเม็ดมะยม และลายดาวกระจาย เป็นต้น

กระเป๋าย่านลิเภา สินค้าโบราณที่หายาก

เมื่อได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาตามต้องการแล้ว จะต้องขัดผิวด้วยกระดาษทราย เก็บรายละเอียดหรือแต่งชิ้นงานให้มีความเรียบร้อย จากนั้นจึงใช้น้ำยาเคลือบผิวหรือชักเงาทาเพื่อเคลือบรักษาเนื้อผิวของผลิตภัณฑ์จักสานจากย่านลิเภาให้มีความคงทน เพิ่มความมันวาว สวยงาม สมัยโบราณนิยมทาด้วยน้ำมันยางใสป้องกันมอดและแมลงบางชนิดกัดกิน ก่อนนำประดับตกแต่งด้วยการบุผ้า หุ้มขอบด้วยถมเงินและถมทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ชิ้นงาน

ของขึ้นชื่อนครศรีธรรมราช

ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา เป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้ ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่นิยมทำกันมากในสำนักของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช
กล่าวกันว่า เจ้าเมืองนครได้เคยนำถวายเจ้านายในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนกระทั่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยายมราช ปั้น สุขุม ครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาสุขุมนัยวิปัต สมุนเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ฟื้นฟูส่งเสริมงานจักสานย่านลิเภาจนเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูงในกรุงเทพมหานคร และได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5
จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรม จักสานย่านลิเภา ที่มีชื่อเสียงและมีกลุ่มคนที่มีทักษะฝีมือในการจักสานย่านลิเภาอยู่หลายกลุ่ม มีการสร้างสรรค์และพัฒนาการขึ้นรูปงานจักสานย่านลิเภาเป็นผลิตภัณฑ์รูปทรงต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามยุคสมัย โดยมีการผสมผสานกับโลหะหรือวัสดุมีค่า
เช่น ทองคำ นาก เงิน งาช้าง และเครื่องถมเมืองนคร ทำให้เกิดลวดลายที่วิจิตรงดงาม มีเอกลักษณ์และคุณค่า จนทำให้เครื่องจักสานย่านลิเภาเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช รวบรวมโดย นางสาวอาพาภรณ์  หมื่นรักษ์  บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช